นิ้วล็อค (Trigger Finger)

โรคนิ้วล็อค
(Trigger Finger)

เป็นความผิดปกติของมือที่พบได้บ่อยที่สุด มักพบได้ในและเส้นเอ็นคนแข็งแรงปกติที่มีการใช้งานของมือรุนแรงในชีวิตประจำวัน สาเหตุ ไม่ได้มาจากการเป็นออฟฟิศซินโดรม เพียงอย่างเดียว หากเป็นในกลุ่มคนทำงานออฟฟิศแล้วมักเกิดจากการงอนิ้วมาก ๆ จากการใช้นิ้ว คีย์แป้นคอมพิวเตอร์  เพราะต้องใช้อุปกรณ์ที่ต้องออกแรงกดต่อเนื่อง ใช้โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต มากเกินไป ทำซ้ำ ๆ บ่อย ๆ ในท่าเดิมนาน ๆ หรือคนที่มีประวัติของโรคเบาหวาน โรคเกาต์ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือในบางคนที่มีอาชีพต้องใช้แรงงาน ที่มีการใช้นิ้วหนัก มีแรงสั่นสะเทือน ก็มีสิทธิเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน โดยมักพบบ่อยในกลุ่มคนที่มีอายุ 40 – 60 ปี และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

สาเหตุ

เกิดจากการใช้งานมากไปหรือใช้มืออย่างไม่ถูกต้อง เช่น จับหรือเกร็งนิ้วมือเป็นเวลานานจนเกิดการอักเสบที่โคนนิ้วมือ สาเหตุเกิดจากการอักเสบของเส้นเอ็นและปลอกหุ้มเอ็นที่ทำหน้าที่งอนิ้วมือ เมื่อปลอกหุ้นเอ็นอักเสบจะเกิดการหดตัว ทำให้เส้นเอ็นในปลอกประสาทถูกล็อค งอหรือเหยียดนิ้วไม่ได้

ลักษณะอาการที่สังเกตได้ชัด

นิ้วมืองอเข้าหาฝ่ามือคล้ายไกปืน มีความรู้สึกปวดตึงบริเวณโคนนิ้ว หรือมีอาการตึงเมื่อกำและแบมือ ในกรณีที่อาการยังไม่รุนแรง หากมีอาการรุนแรงขึ้นจะกำมือลำบากและบางครั้งไม่สามารถเหยียดนิ้วเองได้ หากเป็นหนักก็จะงอนิ้วผิดรูปผิดร่าง ซึ่งลักษณะอาการจะแบ่งได้ 4 ระยะคือ
ระยะที่ 1 : จะมีอาการปวดตึง งอนิ้วมีสะดุดบ้าง กดแล้วเจ็บบริเวณข้อโคนนิ้วทางด้านหน้า แต่ยังงอเหยียดได้เต็มที่
ระยะที่ 2 : เริ่มงอนิ้วสะดุด นิ้วติดและอาจต้องช่วยง้างออก
ระยะที่ 3 : มาถึงระยะนี้จะงอนิ้วไม่ได้ หรืองอได้แล้วนิ้วติด ต้องช่วยง้างออก
ระยะที่ 4 : อาการรุนแรงขึ้น นิ้วติดอยู่นาน ข้อนิ้วยึดติด เหยียดไม่ได้แล้ว

อาการนิ้วล็อค ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นกับ 3 นิ้ว คือ
นิ้วหัวแม่มือ นิ้วกลาง และนิ้วนาง

การรักษา

การรักษาโรคนิ้วล็อคในระยะแรก แพทย์จะรักษาให้หายอักเสบด้วยการทานยา หรือการฉีดยาก็จะช่วยให้ไม่ต้องผ่าตัดได้ แต่ถ้าปล่อยไว้นานจนถึงขั้นล็อคแล้วปวดมาก งอเหยียดไม่ได้ ฉีดยาแล้วไม่ได้ผล แพทย์จะพิจารณาการผ่าตัดขยายปลอกหุ้มเอ็นที่มีปัญหาเพื่อให้กลับมาใช้งานได้

หลักการรักษาอาการนิ้วล็อคโดยแพทย์แผนจีน

จะใช้วิธีทุยหนา จุดมุ่งหมายในการรักษาคือ การทำให้เลือดลมไหลเวียนได้สะดวก ระงับความเจ็บปวด ลดการอักเสบและบวม โดยการนวดจะช่วยทำให้ส่วนที่ยึดติดคลายตัว และฟื้นฟูการทำงานของนิ้วให้กลับคืนสู่ปกติ

ขั้นตอนและวิธีการรักษาด้วยการนวดทุยหนา มีทั้งการกดจุด การคลึง การโยก การดึง และการกระตุก แบ่งเป็น 5 ขั้นตอน ดังนี้

1. เริ่มต้นด้วยการสร้างความอบอุ่น คลายกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น โดยการใช้หัวแม่มือคลึงจุดที่เป็นปัญหา โดยใช้เวลาประมาณ 2-3 นาที

2. ในขั้นตอนการรักษาแพทย์จีนจะใช้นิ้วกดในจุดที่เจ็บ หนักเบาสลับกันไป ซึ่งในแต่ละนิ้วจะมีจุดที่เจ็บมากกว่า 1 จุดขึ้นไป อาจจะเป็น 2 จุด หรือ  3 จุดก็ได้ โดยกดจุดละประมาณ 30 วินาที

3. ใช้มือหนึ่งจับมือของผู้ป่วยเอาไว้ ส่วนอีกมือหนึ่งจับที่ปลายนิ้วที่ล็อค จากนั้นดึงนิ้วตรง หมุนนิ้วตามเข็มนาฬิกา 8 รอบ และหมุนทวนเข็มนาฬิกา 8 รอบ

4. เมื่อทำในขั้นตอนที่ 3 แล้ว แพทย์จีนจะใช้มือดึงและกระตุกนิ้วที่ล็อคให้ยืดออกมา 

5. ใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้ บีบไล่รีดจากโคนนิ้วไปถึงปลายนิ้ว รวม 5 ขั้นตอนใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที

การดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากนิ้วล็อค

1.ไม่หิ้วของหนักเกินไป อาจใช้วิธีการคล้องแขนแทน
2.หากต้องทำงานที่ใช้แรงงานหนัก ควรสวมถุงมือนุ่มเพื่อป้องกันทุกครั้ง
3.พักมือเป็นระยะเมื่อต้องทำงานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ตอย่างต่อเนื่อง
4.หมั่นบริหารนิ้วมือ หากมีอาการปวดหรือมือล้า ควรแช่น้ำอุ่นประคบ
5.หลีกเลี่ยงการซักผ้าที่ต้องบิดแรง ๆ

แหล่งที่มา :
บทความจากโรงพยาบาลเวชธานี
https://www.vejthani.com/th/%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A5%E0%B9%87%E0%B8%AD%E0%B8%84/?gclid=Cj0KCQjw6ZOIBhDdARIsAMf8YyGmbuWQrByg5_VpnBnXdHo05oqQliSN6OrbaVU9O8zteBdAms_o_V4aAtiCEALw_wcB

หัวเฉียวแพทย์แผนจีน
https://www.huachiewtcm.com/content/6764/นวดทุยหนารักษาโรคนิ้วล็อค-trigger-finger

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *