โรคโนโมโฟเบีย (Nomophobia)

โนโมโฟเบีย (Nomophobia) มาจากคำว่า “no mobile phone phobia” เป็นศัพท์ที่หน่วยงายวิจัยทางการตลาดขนาดใหญ่ (YouGov) บัญญัติขึ้นเมื่อปี 2010 เพื่อใช้เรียกอาการที่เกิดจากความหวาดกลัว วิตกกังวลเมื่อขาดโทรศัพท์มือถือเพื่อติดต่อสื่อสาร และอาการนี้กำลังถูกเสนอจัดเป็นโรคจิตเวชประเภทหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มวิตกกังวล เป็นโรคหวาดกลัวการไม่มีมือถือใช้ติดต่อสื่อสารหรือมือถืออยู่ในจุดอับสัญญาณจนติดต่อใครไม่ได้ มีอาการวิตกกังวลหรือกลัวเกินกว่าปกติ

จากงานวิจัยที่ทำพบว่า โนโมโฟเบียพบ มากที่สุดในกลุ่มคนในช่วงอายุ 18-24 ปี โดยคิดเป็นร้อยละ 77 รองลงมาคือกลุ่มคนในช่วงอายุ 25-34 ปี และกลุ่มที่มีอายุมากกว่า 55 ปีตามลำดับ

สาเหตุ :

เกิดจากการไม่มีมือถือ หรืออยู่ในจุดอับสัญญาณ

อาการ :

เครียด วิตกกังวล ตัวสั่น หายใจไม่สะดวก คลื่นไส้ เมื่อไม่มีโทรศัพท์ อยู่ในจุดอับสัญญาณ หรือแบตเตอรี่หมด มักจะหยิบสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต ขึ้นมาเช็คอยู่ตลอดเวลา ติดการส่งข้อความและ โพสต์ข้อความผ่านสังคมออนไลน์ เพราะติดโซเชียลมีเดียอย่างหนัก ถ้าเป็นมากต้องปรึกษาจิตแพทย์

ใครบ้างที่เข้าข่ายเป็นโรคโนโมโฟเบีย :

1)พกโทรศัพท์ติดตัวตลอดเวลา ต้องวางไว้ใกล้ตัวเสมอ รู้สึกกังวลใจมากเมื่อมือถือไม่ได้อยู่กับตัว
2)หมกมุ่นอยู่กับการเช็กข้อความจากโซเชียลมีเดีย แอพพลิเคชั่นต่างๆ อัพเดทข้อมูลจากโทรศัพท์อยู่ตลอด หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดูบ่อย แม้ไม่มีเรื่องด่วน
3)เมื่อมีการแจ้งเตือนเข้ามาจากโทรศัพท์ จะให้ความสำคัญกับโทรศัพท์ในทันที ไม่เช่นนั้นจะไม่มีสมาธิ มีความกระวนกระวายใจ จนไม่สามารถทำภารกิจที่อยู่ตรงหน้าต่อได้
4)เมื่อตื่นนอนก็เช็กโทรศัพท์เป็นอันดับแรก และก่อนนอนก็ยังคงเล่นโทรศัพท์ เล่นเกมส์
5)เล่นโทรศัพท์เป็นประจำในขณะที่กำลังทำกิจกรรมอื่นๆในชีวิตประจำวัน เช่น ระหว่างรับประทานอาหาร เข้าห้องน้ำ ขับรถ หรือระหว่างนั่งรอรถเมล์ ขึ้นรถไฟฟ้า
6)เมื่อหาโทรศัพท์ไม่เจอ จะรู้สึกตื่นตระหนกตกใจมากกว่าสิ่งของอย่างอื่นหาย
7)กลัวโทรศัพท์ตัวเองหาย แม้ว่าจะวางอยู่ในที่ที่ปลอดภัยแล้วก็ตาม
8)ไม่เคยปิดโทรศัพท์มือถือเลย
9)ในแต่ละวันใช้เวลาพูดคุยกับผู้คนผ่านโทรศัพท์ในโลกออนไลน์มากกว่าพูดคุยกับผู้คนจริง ๆ รอบข้าง

วิธีป้องกัน  :

เพื่อป้องกันโรคทั้งหลาย และไม่ปล่อยให้คุณเสพติดมือถือขนาดหนักอีกต่อไป ลองมาดูคำแนะนำดีๆ เพื่อนำไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองกัน

1)เมื่อรู้สึกเหงา ให้หากิจกรรมอื่นหรือเพื่อนคุยแทนการใช้โทรศัพท์ เช่น คุยกับคนในบ้าน เพื่อนร่วมงาน นัดเพื่อนเพื่อมาเจอกัน ไม่ควรหมกมุ่นอยู่กับการสนทนาผ่านหน้าจอโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์
2)ลองตั้งกฎว่าจะไม่แตะต้องโทรศัพท์มือถือภายในระยะเวลาที่กำหนด เช่น 30 นาที หรือ 1 ชั่วโมงหากไม่มีธุระจำเป็น แล้วค่อยๆ เพิ่มเวลาให้ได้มากขึ้น
3)ลองกำหนดให้ห้องนอนเป็นเขตปลอดโทรศัพท์มือถือ แล้วพยายามทำตามให้ได้ เพื่อที่จะไม่ต้องหยิบมือถือมาเล่นทันทีตั้งแต่ลืมตาตื่น หรือผลอยหลับไปกับมือถือที่เล่นก่อนนอน

หากมีอาการสามารถห่างจากโทรศัพท์มือถือได้ ควรปรึกษาจิตแพทย์ ทางการแพทย์อาจจะใช้วิธีการรักษาแบบ Cognitive Behavior Therapy (CBT) ที่นิยมใช้รักษาคนมีอาการวิตกกังวล และอาการกลัวในระดับต่างๆ ด้วยการปรับเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนแปลงความเชื่อเฉพาะตัว ทำให้เรารู้สึกเป็นอิสระมากขึ้นเมื่อไม่มีโทรศัพท์มือถือ

แหล่งที่มาข้อมูล :
Nomophobia (Wikipedia)
Adriana Bianchi and James G. Philips (February 2005). “Psychological Predictors of Problem Mobile Phone Use”. CyberPsychology & Behavior 8 (1).

ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ โดย พญ. วิมลจันทร์ วุฒิคงสมบัติ : https://www.bangkokhealth.com/16982

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *