โรคอดทนรอไม่ได้ (Hurry Sickness)

เป็นโรคที่เกิดกับคนที่เล่นอินเทอร์เน็ตอยู่เป็นประจำ หากเว็บไซต์โหลดช้า หรือใช้เวลานานในการดาวน์โหลด จะทำให้ผู้ใช้หงุดหงิด กระวนกระวาย ใจร้อน ถ้าเป็นแบบนี้บ่อยครั้งอาจทำให้เป็นคนไม่รอบคอบเพราะใจร้อนและอาจเป็นโรคประสาทได้ ผู้ที่เกิดอาการนี้ต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ของตัวเอง อาจทำกิจกรรมที่ชื่นชอบในขณะที่รอการโหลดเว็บไซต์ หรือดาวน์โหลด เช่น อ่านหนังสือ สนทนากับเพื่อน ถ้าควบคุมอารมณ์ไม่ได้จะทำให้เพื่อนไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย

โรคนี้จะส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก เพราะความใจร้อน และไม่สามารถอดทนรออะไรนานๆ จะทำให้กลายเป็นคนไม่รอบคอบ ไม่ใช้เวลาคิดหรือตัดสินอะไรให้ละเอียดก่อน ไม่รู้จักเรียนรู้ พอเกิดเรื่องอะไรที่ต้องการคำตอบหรือแม้กระทั่งหาของไม่เจอจะรีบถามคนอื่น โดยไม่ผ่านกระบวนการคิดใดๆ ทั้งสิ้น บางรายถ้าร้ายแรงมากๆ อาจเข้าข่ายโรคประสาท หรือเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจได้ในที่สุด

อาการ

10 สัญญาณบ่งบอกว่าคุณอาจกำลังเสี่ยงโรคทนรอไม่ได้ จากหนังสือเรื่องTen Symptoms of Hurry Sickness ของ John Mark Comer ระบุ 10 อาการเริ่มต้นของโรคทนรอไม่ได้ เอาไว้ดังนี้

  • ขี้รำคาญผิดปกติ

ขี้รำคาญ ขี้บ่นได้ทุกเรื่องทุกวี่วัน เห็นอะไรก็ขัดหูขัดตาไปหมด หาเรื่องบ่นเพื่อนร่วมงาน คนในครอบครัว เพื่อน และคนรักที่อยู่ข้างตัวได้ตลอดเวลา

  • เซนซิทีฟมากเกินไปกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ

แค่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ทำให้คุณหงุดหงิดได้อย่างชัดเจน คนขับรถปาดหน้า ขับไม่ทันไฟเขียว คุยแชทแล้วอีกฝ่ายตอบช้า นั่งรอลูกค้าแค่กี่นาทีก็รู้สึกไม่อยากรอแล้ว กดลิฟต์แล้วรอนานก็กดย้ำๆ ร้านอาหารบอกให้รอสักครู่แต่รู้สึกไม่อยากรอแล้วเปลี่ยนร้านทันที ฯลฯ

  • กระสับกระส่าย อยู่ไม่เป็นสุข

แม้ว่าจะพยายามใจเย็น ทำอะไรช้าลง แต่ก็ไม่สามารถทำให้คุณอยู่เฉยๆ นิ่งๆ ได้ ดูคลิปยาวๆ ไม่เคยจบ ขี้เกียจอ่านบทความยาวๆ เพราะรู้สึกว่าน่าเบื่อ ทำอะไรค้างๆ คาๆ หรือแม้กระทั่งพยายามจะเข้านอนเร็วแต่สุดท้ายก็คิดนู่นคิดนี่จนนอนไม่หลับ 

  • ทำงานหนัก หรือต้องหาอะไรทำอยู่ตลอดเวลา

พยายามหาอะไรทำให้ตัวเองยุ่งๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่รู้ว่าเวลาไหนควรจะหยุดพัก ทำนู่นเสร็จทำนี่ต่อ จนสุดท้ายรู้ตัวอีกทีก็ล้มหมอนนอนเสื่อป่วยไข้จากการพักผ่อนไม่เพียงพอ และเหนื่อยทั้งร่างกายและจิตใจมากเกินไป

  • ไร้ความรู้สึกไปเสียเฉยๆ

จู่ๆ อ่านข่าวหรือฟังเรื่องราวอันน่าสะเทือนใจที่คนรอบตัวร้องไห้สูดน้ำมูกฟืดฟาดกันไปหมดแล้ว แต่คุณกลับไม่รู้สงสารหรืออินกับเรื่องอะไรใดๆ รู้สึกว่าตัวเองมีเรื่องอะไรให้คิด มีสิ่งที่ต้องทำมากเกินกว่าจะมาเสียเวลากับทำความเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น

  • จัดลำดับความสำคัญในชีวิตไม่ได้

คุณทำนู่นทำนี่เยอะแยะเต็มไปหมด แต่คุณไม่สามารถจัดการเรียงลำดับความสำคัญของงานว่าสิ่งใดควรทำก่อน สิ่งใดควรทำทีหลัง ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานไม่ได้ดีอย่างที่ควรจะเป็น เพราะอาจมัวไปเสียเวลาอยู่แต่กับเรื่องไม่เป็นเรื่อง

  • หมดความสนใจที่จะดูแลร่างกายตัวเอง

ไม่มีเวลาให้กับการนอนหลับให้เพียงพอ 6-8 ชั่วโมงต่อวัน ไม่มีเวลาออกกำลังกาย เลือกรับประทานอาหารดีๆ ในปีหนึ่งๆ คุณน้ำหนักเพิ่มขึ้น และป่วยบ่อยๆ ตื่นเช้ามาก็เหนื่อยแล้ว เข้านอนก็นอนไม่ค่อยหลับ และอาจมีพฤติกรรมในการบริโภคเครื่องดื่มคาเฟอีน เครื่องดื่มน้ำตาลสูง อาการประเภทคาร์โบไฮเดรตที่ผ่านการขัดสี เช่น ข้าวขาว ขนมปังขาว รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปด้วย

  • หนีปัญหาด้วยการอะไรมากเกินตัว

เมื่อไรก็ตามที่ไม่มีความรู้สึกที่อยากจะปล่อยวางจิตใจให้อยู่นิ่งๆ สงบๆ คุณอาจหาอะไรทำที่ช่วยดึงความสนใจของคุณออกไปจากความงุ่นง่านวุ่นวายในใจ เช่น สั่งอาหารมากินมากมาย ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป นอนดูซีรีส์ติดต่อกันหลายๆ คืน ไถ social media ดูอะไรเรื่อยเปื่อยไปเรื่อยๆ ไม่หยุด เป็นต้น

  • ขาดอารมณ์สุนทรีย์และกิจกรรมทางศาสนา

คุณจำไม่ได้แล้วว่าครั้งสุดท้ายที่เข้าวัดทำบุญ หรือไปโบสถ์ ทำพิธีกรรมทางศาสนาคือเมื่อไร เคยได้ตื่นนอนมาสูดอากาศดีๆ พร้อมเสียงนกเจื้อยแจ้วในตอนเช้าบ้างไหม เดินเล่นในสวนสาธารณะ ปั่นจักรยานสูดอากาศเย็นๆ นั่งริมน้ำมองดูปลาว่ายไปมา หรือนั่งฟังเพลงที่ชอบนิ่งๆ ตั้งแต่เพลงแรกยันเพลงสุดท้ายของอัลบั้ม เป็นต้น

  • แยกตัวเองออกมาอยู่คนเดียว

คุณไม่รู้สึกถึงการมีความสัมพันธ์กับคนรอบตัวหลงเหลืออยู่อีกแล้ว คุณคิดว่าคุณอยู่คนเดียวก็ได้สบายใจดี ไม่เหงาไม่ต้องคุยอะไรกับใครก็ได้ แม้ว่าจะอยู่ในกลุ่มเพื่อน คุณก็เปิดมือถือขึ้นมาดูโน่นนี่โดยไม่อยากร่วมวงสนทนาด้วย อยู่กลางวงเครือญาติก็นั่งเงียบไม่มีปฏิกิริยา หรือไม่ฟังบทสนทนาของคนในครอบครัว

วิธีแก้ไขป้องกัน

1.เปลี่ยนความคิดให้ได้ว่าทุกอย่างในชีวิตไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน มีเรื่องที่รอได้กับเรื่องที่ต้องทำทันที แต่ต้องมีการจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง และทำให้เสร็จทีละอย่าง 

2.อนุญาตให้ตัวเองได้พักผ่อน ไม่ต้องทำงานตลอดเวลา ลองนอนหลับนิ่งๆ สบายๆ ในวันหยุด อ่านหนังสือที่ซื้อมาแต่ยังไม่ได้อ่าน หรือออกไปเดินเล่นในสวนสาธารณะ ออกกำลังกาย และฝึกสมาธิ จะช่วยให้ร่างกายและจิตใจได้ผ่อนคลาย 

3.ก่อนนอนพยายามทำกิจกรรมที่ช่วยให้ร่างกายและจิตใจสงบ เช่น แช่น้ำอุ่นก่อนนอน จดบันทึก หรือฟังเสียงบรรเลงช่วยกล่อมนอน หากสามารถนอนหลับได้อย่างมีคุณภาพ จะช่วยให้เราได้รับการฟื้นฟูและสร้างสมดุลทางอารมณ์ให้ดีขึ้น 

4.ยอมรับความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง คุณไม่จำเป็นต้องต่อสู้กับนิสัยทนไม่ได้อยู่คนเดียว ให้คนรัก ให้คนในครอบครัวช่วยคุณได้ ให้พวกเขาเตือนคุณเมื่อคุณกลับไปเป็นนิสัยเดิมๆ เพื่อดึงสติให้คุณปรับพฤติกรรมตัวเองอย่างค่อยเป็นค่อยไป ยอมรับว่าการเปลี่ยนพฤติกรรมที่ฝังรากลึกอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เชื่อเถอะว่าคนที่รักคุณมีอยู่รอบตัว พวกเขาเต็มใจที่จะอยู่เคียงข้างและเป็นกำลังใจให้คุณได้อย่างแน่นอน แต่ถ้าเมื่อไรที่รู้สึกว่าพยายามก็แล้ว ครอบครัวช่วยก็แล้ว แต่ยังเปลี่ยนไม่ได้ ก็อย่ากลัวที่จะไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือทุกเมื่อเช่นกัน 

แหล่งที่มา :
บทความจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
https://www.thaihealth.or.th/
https://thestandard.co/hurry-sickness/

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *